คางคก เป็นสัตว์มีพิษด้วยลักษณะของมันมีผิวหนังเป็นปุ่มตะปุ่มตะป่ำตลอดทั้งตัว โดยมีต่อมพิษอยู่ที่เหนือตา เรียกว่า ต่อมพาโรติค เป็นที่เก็บ และขับพิษออกมา  เรียกว่า ยางคางคก มีลักษณะเป็นเมือกสีขาวคล้ายน้ำนม โดยส่วนประกอบของสารพิษ คือ สารบูโฟท็อกซิน มีผลต่อการกระตุ้นการทำงานของหัวใจ ทำให้หัวใจบีบตัว และในส่วนอื่น ๆ ของคางคกยังมีพิษอีกทั้งผิวหนัง, เลือด, เครื่องใน และไข่ หากนำไปกินแล้ว ผ่านกรรมวิธีการปรุงไม่ดี จะทำให้ ผู้กินได้รับพิษได้ 

        ทั้งนี้ผู้รับประทานเนื้อคางคก ที่มีพิษจะมีอาการแขนขาอ่อนแรง คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หายใจหอบ เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวนถึงขั้นเสียชีวิตได้ และหากยางคางคกถูกตาจะทำให้เยื่อบุตาและแก้วตาอักเสบได้ ตาพร่ามัว จนถึงขั้นตาบอดได้ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่กินคางคกมักเชื่อว่ากินแล้วมีกำลังวังชา และรักษาโรคได้ แต่ความจริงแล้วคางคกไม่มีตัวยาแก้หรือรักษาโรคอะไรเลย เมื่อนำไปปรุงเป็นอาหารจะอันตรายเพราะสารพิษจะกระตุ้นการทำงานของหัวใจ โดยเพิ่มอัตราการเต้น และแรงบีบของหัวใจ

        ผู้ที่กินคางคกจะมีอาการแสดงคล้ายได้รับพิษดิจิทาลิส เกินขนาด อาการจะเกิดขึ้นช้า ๆ หลังจาก กินคางคก หลายชั่วโมง แรกเริ่มจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน บางรายอาจมีอาการปวดท้อง ท้องเดินร่วมด้วย ต่อมาจะมีอาการอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ เห็นภาพเป็นสีเหลือง มีการเปลี่ยนแปลงของระดับสติ เริ่มจากอากาสับสน เพ้อ ง่วงซึม มีอาการประสาทหลอน หรือ อาการทางจิต จนในที่สุดมีอาการชัก หมดสติ ที่ร้ายแรง คือ หัวใจเต้นช้า และเต้นผิดจังหวะใน ที่สุดเกิดภาวะหัวใจห้องล่างเต้นระรัว (ventricular fibrillation) และเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วจากภาวะหัวใจวาย หรือการเลือดไหลเวียนล้มเหลว